ตำแหน่ง จป. หรือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นตำแหน่งงาน ซึ่งมีหน้าที่ที่มีระบุไว้ตามกฎหมายด้านความปลอดภัย โดยมีหน้าที่ ดูแลให้มีการปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของ ลูกจ้าง โดยกฎกระทรวงฉบับล่าสุด กฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ ได้กำหนด เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานไว้เป็น 2 ประเภท
ประเภทของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.)
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่ง มี 2 ระดับ ดังนี้
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะ
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ
โรงงาน หรือ บริษัทใดที่ต้องมี จป. บ้าง?
ขั้นตอนและเทคนิคการประเมินความสอดคล้องกับกฎหมาย
ขั้นตอนที่ 1 ให้ตรวจสอบว่า โรงงาน หรือ บริษัท ที่เราปฏิบัติงาน อยู่ในบัญชีใด ใน 3 บัญชีท้ายกฎกระทรวงฯ
โดยกฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดบัญชีท้ายกฎกระทรวง ไว้ 3 บัญชี
บัญชี 1 มีจำนวน 5 ลำดับ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนัก เช่น การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม การทำเหมืองแร่ การแยกก๊าซ เป็นต้น
บัญชี 2 มีจำนวน 49 ลำดับ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตต่างๆ โครงการก่อสร้าง การขนส่ง โรงพยาบาล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก/สวนสัตว์ เป็นต้น
บัญชี 3 มีจำนวน 10 ลำดับ เช่น สำนักงานใหญ่ ของโรงงาน หรือบริษัทตามบัญชี 1 และ 2 เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบจำนวนพนักงานทั้งหมดของสถานประกอบกิจการ
ในกฎกระทรวงฯ จะใช้คำว่า "สถานประกอบกิจการ" ซึ่งตาม พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔
**สถานประกอบกิจการ หมายความว่า หน่วยงานแต่ละแห่งของนายจ้างที่มีลูกจ้างทำงานอยู่ในหน่วยงาน**
กฎกระทรวงฯ ได้กำหนดให้นายจ้างต้องแต่งตั้ง จป. ระดับต่างๆ ดังนี้
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
- บัญชี 1 และบัญชี 2 มีลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ จำนวน 2 คนขึ้นไป
- บัญชี 3 ที่มีลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ จำนวน 20 คนขึ้นไป
- ต้องจัดให้หัวหน้างานทุกคน เป็น จป. หัวหน้างาน
- ภายใน 120 วันนับแต่วันที่จำนวนลูกจ้างครบ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร
- บัญชี 1 และบัญชี 2 มีลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ จำนวน 2 คนขึ้นไป
- บัญชี 3 ที่มีลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ จำนวน 20 คนขึ้นไป
- ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับบริหารทุกคน เป็น จป. บริหาร
- ภายใน 120 วันนับแต่วันที่จำนวนลูกจ้างครบ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค
- สถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 มีลูกจ้าง จำนวน 20 - 49 คน
- ต้องจัดให้ลูกจ้าง อย่างน้อย 1 คน เป็น จป. เทคนิค
- ภายใน 180 วันนับแต่วันที่จำนวนลูกจ้างครบ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง
- สถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 มีลูกจ้าง จำนวน 50 - 99 คน
- ต้องจัดให้ลูกจ้าง อย่างน้อย 1 คน เป็น จป. เทคนิคขั้นสูง
- ภายใน 180 วันนับแต่วันที่จำนวนลูกจ้างครบ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ
- สถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 มีลูกจ้าง จำนวน 2 คนขึ้นไป
- สถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 มีลูกจ้าง จำนวน 100 คนขึ้นไป
- ต้องจัดให้ลูกจ้าง อย่างน้อย 1 คน เป็น จป. วิชาชีพ
- ภายใน 180 วันนับแต่วันที่จำนวนลูกจ้างครบ
สำหรับ จป. เทคนิค จป. เทคนิคขั้นสูง และ จป. วิชาชีพ ถ้าลูกจ้างคนเดิมพ้นสภาพ ให้ดำเนินการแต่งตั้งทดแทน ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พ้นสภาพ
คำค้นหา : จป. วิชาชีพ , จป. เทคนิค , จป. เทคนิคขั้นสูง , จป. หัวหน้างาน , เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน , จป. บริหาร ,ความปลอดภัยในการทำงาน , กฎกระทรวง จป , แต่งตั้ง จป
ไปที่หน้าสารบัญรายการบทความ