การใช้งานรถยก สรุปประเด็นกฎหมายความปลอดภัย

ในโรงงานอุตสาหกรรม มีการนำเครื่องจักรต่าง ๆ มาใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และ ลดภาระการทำงานของคนงาน การใช้งานรถยก ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งตามมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ผู้ใช้งานหรือผู้ควบคุมการใช้งานต้องตรวจสอบสภาพก่อนการใช้งาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน และความปลอดภัยในการใช้งาน "รถยก" ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

 

ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานรถยก (Forklift) ไว้หลายประเด็น ในส่วนที่ ๔ ดังนี้

 

++ รถยกต้องมีโครงหลังคาที่มั่นคงแข็งแรง

++ รถยกต้องมีป้ายบอกพิกัดน้ำหนักยกอย่างปลอดภัยไว้ที่รถยก

++ รถยกต้องมีสัญญาณเสียงหรือแสงไฟเตือนภัยในขณะทำงาน

++ ต้อง ตรวจสอบรถยก ให้มีสภาพปลอดภัย "ก่อนการใช้งานทุกครั้ง" และมีเอกสารไว้ให้ตรวจสอบได้

กฎกระทรวงที่ใช้คำว่า "ก่อนการใช้งานทุกครั้ง" มีเจตนารมณ์อย่างไร? ทำไมไม่ใช้คำว่า "ทุกวัน"

 

ในวันนี้ เราจะมาประเมินความสอดคล้องกับกฎกระทรวงฯ ซึ่ง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ต้องทำความเข้าใจ ตีความกฎหมายแล้วดำเนินการปรับวิธีการทำงาน เอกสารที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงฯ ที่ได้กำหนดไว้

 

การประเมินสถานะเบื้องต้นในการใช้งานรถยก

ก่อนอื่นเรามาประเมิน หรือการตรวจสอบหน้างานว่าโรงงานที่เราปฏิบัติงานมีการใช้รถยกแบบใด (เป็นการแบ่งตามประสบการณ์ที่เคยทำงานของ จป.หน่อยเอง)

 

ลักษณะที่ ๑ : มีผู้ขับรถยกประจำรถ ๑ คัน ต่อ ๑ คน โดยในการทำงานปกติพนักงานคนอื่นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขับ ซึ่งผู้ขับรถยกนี้ จะทำหน้าที่ดูแลรักษาตรวจสอบ ก่อนการใช้งานตามแบบฟอร์มที่กำหนด

++ ตามลักษณะที่ ๑ จป. สามารถกำหนดให้ ผู้ขับรถยก ตรวจสอบก่อนการใช้งานทุกวัน (ทุกกะ) ได้ ซึ่งตลอดทั้งวันมีการขับใช้งานโดยพนักงานเพียงคนเดียว จึงทำให้การควบคุมด้านความปลอดภัย และการปฏิบัติให้สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด มักจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

 

ลักษณะที่ ๒ : มีการกำหนดผู้รับผิดชอบในการขับรถยกและดูแลรักษาตรวจสอบ ประจำวัน แต่พนักงานคนอื่นที่มีใบอนุญาตขับรถยก สามารถมาขอเบิกขับรถยกได้ทุกคน เช่น พนักงานแผนกคลังสินค้าเป็นผู้รับผิดชอบและขับรถยกหลัก แต่พนักงานแผนกช่างที่มีใบอนุญาตมาเบิกและขับรถยกได้

++ กรณีตามลักษณะที่ ๒ เรามักจะกำหนดให้ พนักงานคลังสินค้าเป็นผู้ขับรถยกและตรวจสอบ ประจำวันหรือประจำกะ (หนึ่งครั้งก่อนการใช้งานในแต่ละวัน หรือแต่ละกะ) แต่เมื่อมี พนักงานแผนกช่างมาขอเบิกขับรถยกไปใช้งาน ซึ่งมักจะไม่ได้ตรวจสอบตามแบบฟอร์ม จากลักษณะนี้ถ้าประเมินตามข้อกำหนดของกฎหมายยังถือว่า "ไม่สอดคล้อง" ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นจนถึงขั้นต้องมี พนักงานตรวจความปลอดภัยเข้ามาสอบสวนร่วมด้วย อาจจะชี้เป็นประเด็นได้

 

ลักษณะที่ ๓ : ขาดการควบคุมใดๆ ไม่มีเอกสารการตรวจสอบ ไม่มีการกำหนดผู้ขับรถยก ไม่มีการอบรมผู้ขับรถยก

++ กรณีตามลักษณะที่ ๓ ก็ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า ไม่สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนดอย่างชัดเจน และ หลายประเด็น

 

เอกสารที่เกี่ยวข้องและต้องจัดทำให้มี

ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรถยก นายจ้าง ต้องจัดให้มีเอกสาร ดังนี้ (ซึ่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ต้องทวนสอบและดำเนินการเสนอนายจ้าง)

 

๑.  คู่มือการใช้งานรถยก เป็นภาษาไทยหรือภาษาอื่นที่ผู้ขับรถยกสามารถศึกษาได้ ซึ่งคู่มือนี้ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบ การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ การซ่อมแซม การบำรุงรักษา การตรวจสอบ การเคลื่อนย้ายรกยกด้วยเป็นอย่างน้อย

 

๒. ทะเบียนผู้ขับรถยก หรือหนังสือที่เป็นการมอบหมายให้พนักงานที่มีรายชื่อในหนังสือเป็นผู้ขับรถยกได้

 

๓. ใบผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด และอาจจะจัดทำ "ใบอนุญาตขับรถยก" ในการควบคุมภายในโรงงานอีกก็ได้

 

๔. แบบฟอร์มสำหรับตรวจสอบรถยก

 

ตรวจสอบรถยก

จากข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ ที่มีเจตนารมณ์เพื่อให้มีการจัดการและควบคุมที่ดี เกิดความปลอดภัยในการทำงาน จึงกำหนดให้มีการ "ตรวจสอบสภาพรถยกก่อนการใช้งานทุกครั้ง" ซึ่งผู้ขับรถยกทุกคน ต้องทำการตรวจสอบก่อนขึ้นขับ

 

ส่วนที่ ๔ รถยก

“รถยก” หมายความว่า รถที่ติดตั้งอุปกรณ์ใช้สำหรับการยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ เช่น ฟอร์คลิฟต์ (forklift) หรือรถที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน

ข้อ ๓๔ ในการทำงานเกี่ยวกับรถยก นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี

(๑) จัดให้มีโครงหลังคาของรถยกที่มั่นคงแข็งแรง สามารถป้องกันอันตรายจากวัสดุตกหล่นได้ เว้นแต่รถยกที่ออกแบบมาให้ยกวัสดุสิ่งของที่มีความสูงไม่เกินศีรษะของผู้ขับขี่

(๒) จัดให้มีปัายบอกพิกัดน้ำหนักยกอย่างปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดคุณลักษณะ และคู่มือการใช้งานตามข้อ ๘ ไว้ที่รถยก พร้อมทั้งติดตัังป้ายเตือนให้ระวัง

(๓) ตรวจสอบรถยกให้มีสภาพใช้งานได้ดีและปลอดภัยก่อนการใช้งานทุกครั้ง และต้องมีสำเนาเอกสารการตรวจสอบไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้

(๔) จัดให้มีสัญญาณเสียงหรือแสงไฟเตือนภัยในขณะทำงานตามความเหมาะสมของการใช้งาน

(๕) จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยการมองเห็นตามสภาพในการทำงาน เช่น กระจกมองข้าง

(๖) ให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับรถยกชนิดนั่งขับสวมใส่เข็มขัดนิรภัยในขณะทำงานบนรถตลอดเวลา

คำค้นหา : รถยก การใช้งานรถยก รถโฟล์คลิฟท์ การใช้งานรถโฟล์คลิฟท์ การตรวจสอบรถยก ความปลอดภัยในการใช้รถยก กฎหมายความปลอดภัยรถยก กฎกระทรวงเครื่องจักร

ไปที่หน้าสารบัญรายการบทความ

คลิกที่นี่

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า