จากข้อ ๑๑ ของ กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับ ความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้กำหนดให้นายจ้างจัดให้มี มาตรการอนุรักษ์การได้ยิน ในสถานประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดนั้น
และเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ได้มี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา "ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และ วิธีการจัดทำ มาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ"
ซึ่งกำหนดรายละเอียดในการจัดทำ มาตรการอนุรักษ์การได้ยิน โดยมีสาระสำคัญ และประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ต้องจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินเมื่อใด?
เมื่อ มีสภาวะการทำงานในสถานประกอบกิจการมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน ๘ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๘๕ เดซิเบลเอขึ้นไป
ต้องจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินอย่างไร?
ให้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร นั้นก็คือ แนะนำให้เขียนเป็นเอกสาร เช่น ระเบียบปฏิบัติงาน หรือ คู่มือปฏิบัติงาน หรือขั้นตอนปฏิบัติงาน >> ดาวน์โหลดตัวอย่างคู่มือ
โดยต้องมีรายละเอียด หัวข้อรายการ ดังนี้
- นโยบายการอนุรักษ์การได้ยิน
- การเฝ้าระวังเสียงดัง (Noise Monitoring)
- การเฝ้าระวังการได้ยิน (Hearing Monitoring)
- มีการกำหนด หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง
รวมถึง การดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
++ จัดทำและติดตั้งแผนผังแสดงระดับเสียง (Noise Contour Map)
++ ติดป้ายบอกระดับเสียงและเตือนให้ระวังอันตรายจากเสียงดัง
++ ป้ายบังคับให้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
++ จัดให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน ให้กับลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง
การเฝ้าระวังเสียงดัง (Noise Monitoring)ต้องทำอะไรบ้าง?
การเฝ้าระวังเสียงดัง ตามประกาศกรมฯ กำหนดไว้สั้นๆ ใน “ข้อ ๓ ให้นายจ้างจัดให้มีการเฝ้าระวังเสียงดัง โดยการสำรวจ และตรวจวัดระดับเสียง การศึกษาระยะเวลาสัมผัสเสียงดัง และการประเมินการสัมผัสเสียงดังของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการแล้วแจ้งผลให้ลูกจ้างทราบ” จึงขอแยกเป็นขั้นตอนดำเนินการดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ : สำรวจพื้นที่
ในการสำรวจพื้นที่ จอปอหน่อย ขอแนะนำรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้ เริ่มต้นด้วยการเดินสำรวจพื้นที่ในโรงงาน ว่าจุดงานใด้มีแหล่งกำเนิดเสียงบ้าง แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไปลงในแบบฟอร์ม ตารางที่ ๑ การคัดกรองปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้น แล้วจัดทำแผนการตรวจวัดเสียงดัง รวมถึงการระบุรายชื่อพนักงานที่เกี่ยวข้อง ณ จุดงานนั้นๆ ด้วย (ตามแบบฟอร์ม ตารางที่ ๓ การคัดกรองพนักงานที่สัมผัสปัจจัยเสี่ยง) ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
ขั้นตอนที่ ๒ : ดำเนินการตรวจวัดระดับเสียงดัง
ในขั้นตอนการตรวจวัดระดับเสียงดัง เราตั้งนำแผนงานตรวจวัดเสียงดัง จากขั้นตอนที่ ๑ มาทำงบประมาณ เพื่อดำเนินการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับเสียงดัง (อาจจะจ้างหน่วยงานภายนอก หรือ ดำเนินการตรวจวัดเอง)
ขั้นตอนที่ ๓ : ศึกษาระยะเวลาสัมผัสเสียงดัง
ในการศึกษาระยะเวลาสัมผัสเสียงดัง โดยการ สอบถาม/สำรวจ เช่น การสอบถามพนักงาน/หัวหน้างานว่าระยะเวลาที่ทำงาน ณ จุดงานนั้นทำงานนานแค่ไหน หรือกรณีที่มีการย้ายพื้นที่ทำงาน ของพนักงานในแต่ละคน ต้องบันทึกให้ชัดเจน ว่า ในจุดงานหนึ่งๆ มีระยะเวลาทำงานนานแค่ไหน ถ้ามีการพักในพื้นที่ที่ไม่มีเสียงดัง ก็ต้องระบุว่าพักนานแค่ไหนใน 1 วัน หรือ 1 กะ
โดยมีแผนผังของพื้นที่ที่เข้าไปสำรวจ และใช้แบบฟอร์ม แบบฟอร์ม ตารางที่ ๑ การคัดกรองปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้น
ขั้นตอนที่ ๔ : ประเมินการสัมผัสเสียงดัง
ในการประเมินการสัมผัสเสียงดัง คือการนำค่าที่ได้จากผลการตรวจวัดเสียงดัง มาสรุปและวิเคราะห์ ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยแยกเป็นดังนี้
+++ กรณีที่ระดับเสียงดังคงที่ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน
+++ กรณีบริเวณที่พนักงานปฏิบัติงานมีระดับเสียงดังไม่สม่ำเสมอ หรือ มีการย้ายจุดงานในแต่ละวัน
โดยอ้างอิงมาตรฐานจาก : ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน (ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๑)
ขั้นตอนที่ ๕ : สื่อสาร และแจ้งให้พนักงานทราบ
สำหรับในขั้นตอนนี้ การสื่อสาร และการแจ้งให้พนักงานทราบ จะประกอบด้วย การจัดทำและติดตั้งแผนผังแสดงระดับเสียง (Noise Contour Map) การติดป้ายบอกระดับเสียงและเตือนให้ระวังอันตรายจากเสียงดัง (ตามแบบแนบท้ายประกาศกรมฯ) ด้วย
การเฝ้าระวังการได้ยิน ต้องทำอะไรบ้าง?
อันดับแรก .. ให้นำรายชื่อพนักงานที่เกี่ยวข้อง กับจุดงานที่มีเสียงดัง มาจัดทำแผนงานตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง
ถัดมา .. ดำเนินการตรวจสุขภาพพนักงาน โดยการ "ทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน" ครั้งแรกก่อน (ในประกาศกรมฯ กำหนดครั้งแรกไว้ คือเมื่อเข้าทำงาน หรือ เมื่อเปลี่ยนจุดงาน) จอปอหน่อยก็ขอเพิ่มอีกกรณี คือ เมื่อทราบว่าจุดงานนั้นมีปัจจัยเสี่ยงเสียงดัง
การทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน ให้ใช้ความถี่ ๕๐๐ ๑๐๐๐ ๒๐๐๐ ๓๐๐๐ ๔๐๐๐ และ ๖๐๐๐ เฮิรตซ์ ของหูทั้งสองข้างเป็นข้อมูลพื้นฐาน (Baseline Audiogram) และครั้งต่อไปต้องตรวจอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง โดยมีขั้นตอนปฏิบัติตามแผนผังภาพ
การจัดเก็บเอกสาร
การจัดเก็บเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับ มาตรการอนุรักษ์การได้ยิน ให้จัดเก็บไม่น้อยกว่า ๕ ปีนะครับ อย่าพึ่งทิ้งถึงแม้ว่าพนักงานจะลาออกไปแล้วก็ตาม
และสุดท้ายอีกหนึ่งอย่าง ที่จะลืมไม่ได้ คือการทำ สมุดสุขภาพประจำตัวลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง
คำค้นหา : มาตรการอนุรักษ์การได้ยิน, เสียงดัง, อนุรักษ์การได้ยิน, ทำงานมีเสียงดัง, หูหนวก, ตรวจหู, สมรรถภาพการได้ยิน, หูเสื่อม, กฎหมายตรวจสุขภาพ, กฎหมายเสียงดัง
ไปที่หน้าสารบัญรายการบทความ