น้ำดื่ม เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คนเราต้องดื่มน้ำในแต่ละวันในปริมาณที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัย เพศ และกิจกรรมระหว่างวัน ฉะนั้นในโรงงาน หรือ สถานประกอบกิจการ จึงมีกฎหมายกำหนดสำหรับ การจัดน้ำดื่มในโรงงาน ให้นายจ้าง ดำเนินการจัดสวัสดิการ ในการหาหรือจัดเตรียมน้ำดื่ม สำหรับคนงาน หรือ ลูกจ้าง ให้เพียงพอและทั่วถึง
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดหาน้ำดื่ม สำหรับลูกจ้าง หรือ พนักงานในโรงงาน เท่าที่สืบค้นได้ จะมีอยู่ด้วยกัน ๒ ฉบับ ของ สองกระทรวง ด้วยกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดย กระทรวงแรงงาน กับ กระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้
ฉบับแรก เป็นฉบับที่เก่าที่สุด คือ ประกาศกระทรวงอุตสหกรรมฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระรายบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ เรื่อง หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๓
ฉบับที่สอง เป็น กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
เรามาดูฉบับแรก ที่เก่าที่สุดก่อนครับ "ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ เรื่อง หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๓ โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาน้ำดื่ม ไว้ในหมวดที่ ๑๐ น้ำสะอาดสำหรับดื่ม
ข้อที่ ๔๑ ต้องจัดให้มีน้ำสะอาดสำหรับดื่ม ตามมาตรฐานน้ำบริโภค อย่างเพียงพอไว้เป็นที่ต่างหาก อย่างน้อยในอัตราคนงานไม่เกิน ๔๐ คน ๑ ที่ คนงานไม่เกิน ๘๐ คน ๒ ที่ และเพิ่มขึ้นต่อจากนี้อัตราส่วน ๑ ที่ ต่อจำนวนคนงานไม่เกิน ๕๐ คน
ข้อที่ ๔๒ ต้องจัดหา และรักษาอุปกรณ์การดื่ม หรือภาชนะที่บรรจุน้ำดื่มให้พอเพียง และอยู่ในสภาพที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
*หมายเหตุ : ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๓) นี้ เป็นประกาศที่อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งในปัจจุบันได้ถูกยกเลิกแล้ว โดย พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่เนื่องด้วยกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาภายใต้ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้ยังไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับเรื่อง การจัดน้ำดื่มในโรงงาน ดังนั้นจึงนำมาใช้อ้างอิงได้ ตาม มาตรา ๖๘ ใน พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕
กฎหมายที่เกี่ยวกับ น้ำดื่ม ฉบับถัดมา คือ กฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งออกโดย กระทรวงแรงงาน ภายใต้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งในกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ ได้กำหนดไว้ใน ข้อที่ ๑ วงเล็บ (๑) ให้นายจ้างจัดให้มี น้ำสะอาดสำหรับดื่ม ไม่น้อยกว่าหนึ่งที่ สำหรับลูกจ้างไม่เกินสี่สิบคน และเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนหนึ่งที่สำหรับลูกจ้างทุก ๆ สี่สิบคน เศษของสี่สิบคนถ้าเกินยี่สิบคนให้ถือเป็นสิ่สิบคน
การประเมินความสอดคล้องกับกฎหมาย
จากข้อกำหนดของกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ ต้องใช้ฉบับไหนในการอ้างอิง หรือ ต้องใช้ทั้งสอง จป.หน่อย ก็มีคำแนะนำให้นำไปพิจารณาตาม บริบทของแต่ละองค์กร ดังนี้
-- ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ใช้บังคับกับโรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานเท่านั้น แต่ กฎกระทรวงฯ ของกระทรวงแรงงาน จะใช้บังคับกับสถานประกอบกิจการทุกประเภทที่มี ลูกจ้าง ตามที่กำหนดใน พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
-- กฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ๒๕๔๘ มีการกำหนดจำนวนที่เข้มข้นกว่า ถ้าเราปฏิบัติสอดคล้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฯ นี้แล้ว ก็มักจะสอดคล้องกับ ประกาศกระทรวงฯ อุตสาหกรรมด้วย
-- ถึงแม้กฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ จะกำหนดจุดน้ำดื่ม ต่อ จำนวนคนงาน หรือ ลูกจ้าง สิ่งที่เราจะต้องนำมาประเมินความสอดคล้อง และจัดจุดติดตั้งน้ำดื่มด้วย คือ บริเวณพื้นที่ภายในโรงงานด้วย เช่น ในโรงงานมีพนักงาน ๓๕ คน ถ้าดูตามข้อกฎหมาย จัดน้ำดื่มเพียง ๑ จุด แต่ถ้ามีอาคารโรงงานอีกหนึ่งอาคาร ห่างออกไป ๕๐๐ เมตร และมีลูกจ้างทำงานอยู่ ๑๐ คน อย่างนี้ก็ควรที่จะต้องจัดจุดน้ำดื่มเพิ่มให้อีก ๑ จุดด้วย
-- กฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ กำหนดไว้เหมือนกัน คือ ต้องเป็น "น้ำสะอาด" ซึ่งต้องมีกระบวนการ ที่สามารถยืนยันได้ว่า น้ำดื่มที่จัดไว้ให้นี้ เป็น น้ำสะอาดบริโภคได้ ซึ่งในแต่ละโรงงาน จะมีวิธีการจัดหาที่แตกต่างกัน เช่น จัดหาโดยจัดซื้อน้ำดื่มจากโรงงานผลิตน้ำดื่ม ก็จะต้องมี ผลการตรวจสอบมาอ้างอิง แต่บางโรงงานอาจจะดำเนินการจัดซื้อเครื่องกรองน้ำมาดำเนินการผลิตน้ำดื่มให้พนักงานเอง ก็จะต้องมีการส่งน้ำทดสอบตามมาตรฐาน น้ำดื่ม เก็บไว้เป็นหลักฐาน
เพิ่มเติมกฎหมาย อ้างอิง
++ ประกาศกรมอนามัย เรื่อง เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย พ.ศ. ๒๕๖๓
++ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำบริโภค มอก. ๒๕๗ - ๒๕๔๙
ไปที่หน้าสารบัญรายการบทความ