การทำงานในพื้นที่อับอากาศ ถือเป็นงานอันตรายสูง โรงงานต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามที่กฎกระทรวงฯ อับอากาศ ปี ๒๕๖๒ กำหนดไว้ ก่อนดำเนินการให้ลูกจ้างเข้าไปปฏิบัติงาน และ ใบอนุญาตทำงานอับอากาศ ก็เป็นเอกสารที่ต้องจัดทำให้สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ ความหมาย
ก่อนอื่นเราย้อนมาจับประเด็นกฎหมายกันก่อน กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๒
ความหมายของ ที่อับอากาศ (Confined Spaces) หมายความว่า เป็นพื้นที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัด และไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับเป็นสถานที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ และมีสภาพอันตราย หรือมีบรรยากาศอันตราย เช่น อุโมงค์ ถ้ำ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ถัง ไซโล ท่อ เตา ภาชนะ หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งอาจจะมีอันตรายจากการขาดอากาศหายใจ หรืออาจมีออกซิเจนไม่เพียวพอ หรืออาจมีก๊าซพิษ ซึ่งมีความเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่นั้นๆ ได้
รายละเอียดใน ใบอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ
ซึ่งหมวด ๓ การอนุญาต ได้กำหนดขั้นตอนและหน้าที่ของนายจ้างไว้ ดังนี้
ข้อ ๑๗ ให้นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตทำงาน หรือมอบหมายเป็นหนังสือให้ลูกจ้างซึ่งได้รับการฝึกอบรม เป็นผู้มีหน้าที่อนุญาตแทนก็ได้
ข้อ ๑๘ ได้กำหนดให้ "นายจ้าง" จัดให้มีหนังสืออนุญาตให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศทุกครั้ง (Confined Spaces Entry Permit) ซึ่งในหนังสือนั้นต้องมีรายละเอียด ดังนี้เป็นอย่างน้อย
(๑) ที่อับอากาศที่อนุญาตให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน คือ ชื่อพื้นที่อับอากาศ ตามรายการ (List) ที่แต่ละโรงงานได้ประเมิน และจัดทำไว้อยู่แล้ว
(๒) วัน เวลาในการทำงาน ควรกำหนดวันที่ปฏิบัติงาน เวลาเริ่ม และเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย ซึ่งใบอนุญาต ๑ ใบต้องใช้ในการเข้าไปปฏิบัติงาน ๑ ครั้ง
(๓) งานที่ให้ลูกจ้างเข้าไปทำ ควรระบุให้ชัดเจนถึงงานที่เข้าไปทำ เช่น ซ่อมบำรุงด้วยการเชื่อม, ทำความสะอาด เป็นต้น
(๔) ชื่อลูกจ้างที่อนุญาตให้เข้าไปทำงาน ลูกจ้างทุกคนที่ระบุชื่อต้องมีใบผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรที่กำหนด พร้อมแนบใบรับรองแพทย์
(๕) ชื่อผู้ควบคุมงาน ผู้ควบคุมงาน ต้องมีใบผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรที่กำหนด
(๖) ชื่อผู้ช่วยเหลือ ผู้ช่วยเหลือ ต้องมีใบผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรที่กำหนด
(๗) อันตรายที่ลูกจ้างอาจได้รับ และวิธีการปฏิบัติตนและการช่วยเหลือลูกจ้างออกจากที่อับอากาศในกรณีฉุกเฉิน และวิธีการหลีกหนีภัย
อาจจะใช้แบบชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยงแนบ
(๘) ผลการประเมินสภาพอันตรายและบรรยากาศอันตราย เช่น ผลการตรวจวัดปริมาณออกซิเจน, ผลการตรวจวัดสารเคมีหรือก๊าซพิษ เป็นต้น
(๙) มาตรการความปลอดภัยที่เตรียมไว้ก่อนการให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน
(๑๐) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิต ซึ่งมาตรการความปลอดภัย และอุปกรณ์ฯ ที่จำเป็นต้องใช้/ต้องมี อาจกำหนดรายการมาจาก "การชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง"
(๑๑) ชื่อและลายมือชื่อผู้ขออนุญาต และชื่อและลายมือชื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการขออนุญาต (ผู้อนุญาต) ซึ่งผู้อนุญาต ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ/มอบหมายหน้าที่จากนายจ้างด้วย
(๑๒) ผลการตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติในที่อับอากาศ โดยมีใบรับรองแพทย์
ขณะปฏิบัติงาน ต้องปิด หรือแสดงสำเนาใบอนุญาตไว้บริเวณทางเข้าที่อับอากาศให้เห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา และให้เก็บ ใบอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ ไว้ เพื่อให้พนักงานตรวจสอบได้
คำค้นหา : การทำงานในที่อับอากาศ , ที่อับอากาศ , ใบอนุญาตทำงานอันตราย , ใบอนุญาตทำงานอับอากาศ , งานอันตราย , ความปลอดภัยในงานอับอากาศ , ผู้อนุญาต , ผู้ควบคุม , ผู้ช่วยเหลือ , ผู้ปฏิบัติงานอับอากาศ
ไปที่หน้าสารบัญรายการบทความ